|
|
คำขวัญ
ถิ่นหินทราย สายธารสวย รวยพฤกษา
กสิกรรมหลากหลาย ผลไม้ลือเลื่อง ฟูเฟื่องวัฒนธรรม
ถิ่นหินทราย หมายถึง เขาพินิจ เขาปลวก
สายธารสวย หมายถึง แสดงถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก
รวยพฤกษา หมายถึง แหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรือง บานไม่รู้โรย มะลิ
กสิกรรมหลากหลาย หมายถึง ความสมบูรณ์ของการเพาะปลูกพืชทางการเกษตร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ
ผลไม้ลือเลื่อง หมายถึง โดยสภาพภูมิประเทศที่ลุ่มสลับที่ดอน ประกอบกับมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึง เหมาะแก่การปลูกไม้ผลได้แก่ ละมุด องุ่น มะขามหวาน มะไฟ ลำไย ฯลฯ
ฟูเฟื่องวัฒนธรรมไทย หมายถึง หนองไม้งามเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ซึ่งราษฎรที่อาศัยอยู่ในตำบลมาจากหลายแห่ง ดังนั้นภาษาถิ่นจึงมีการพูดหลายภาษา เช่น เขมร ไทย ลาว ภาษาไทยโคราช ดังนั้นแต่ละหมู่บ้านจะมีวัฒนธรรมของตน ซึ่งถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นสืบต่อกันมา
ประวัติความเป็นมา
ตำบลหนองไม้งามเป็นตำบลที่เก่าแก่ ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าก่อตั้งนานเท่าไรแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นโคราช และภาษาอีสาน แต่ก่อนตำบลหนองไม้งามมีประมาณ 25-30 ครัวเรือน ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหนองละลม ยึดอาชีพทำนา ปลูกผักแบบยังชีพ และหาของป่าขาย เช่น น้ำมันยาง หวาย ชันและไม้เหลือง
ประมาณปี พ.ศ.2426 มีชนกลุ่มหนึ่งหนีการเมืองมาตั้งแต่สมัยทัพฮ่ออาศัยอยู่บริเวณหนองละลม และบริเวณหมู่ 2 และหมู่ 4 ในปัจจุบันและได้ตั้งชื่อบ้านว่า บ้านหนองไม่ตาย ซึ่งเมื่อหนีมาอยู่บริเวณแห่งนี้แล้วรอดพ้นจากการติดตามมา
เมื่อปี พ.ศ.2440 บ้านหนองไม่ตาย อยู่ในเขต ต.ปังกู อ.ประโคนชัย ต่อมาแยกมาอยู่ ต.จระเข้มาก ครั้งหนึ่งในอำเภอประโคนชัย คือ ในตัง ราวเจริญ มาตรวจเยี่ยมหมู่บ้านแห่งนี้พบว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านหนองไม้งาม
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 บ้านกรวดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ จึงโอนบ้านหนองไม้งามมาอยู่ตำบลบ้านกรวด และเมื่อปี พ.ศ.2509 ตั้งเป็นตำบลหนองไม้งาม โดยที่บ้านหนองไม้งามเก่าเหนือหมู่ 4 เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งเริ่มแรกพร้อมกับตำบลหนองไม้งามนี้ จนกระทั่งปัจจุบันมีหมู่บ้านในตำบลหนองไม้งามทั้งหมดรวม 15 หมู่บ้าน ทำให้ตำบลหนองไม้งามเป็นตำบลที่ใหญ่และมีเศรษฐกิจที่หลากหลายและเป็นตำบลที่มีศักยภาพในด้านการพัฒนาเป็นอย่างมาก
สภาพทั่วไป
ที่ตั้ง ตำบลหนองไม้งามเป็น 1 ใน 9 ตำบลของอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างที่ว่าการอำเภอบ้านกรวดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 19 กิโลเมตร
เนื้อที่ ตำบลหนองไม้งาม มีเนื้อที่ประมาณ 60.290 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 37,681.28 ไร่ สภาพภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นที่สูงทางด้านทิศใต้ (ระดับความสูง 210 เมตร) ลากต่ำลงมาทางทิศตะวันออก (ระดับความสูง 160 เมตร ) ทำให้พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ลุ่มสลับที่ดอน ส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นที่ราบสลับคลื่นบางส่วน
ข้อมูลทั่วไปของ กศน. ตำบลหนองไม้งาม
ประวัติศูนย์การเรียนชุมชนตำบลหนองไม้งาม
ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านสายตรี 10 หมู่ 11 ตำบลหนองไม้งาม อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มจัดตั้งศูนย์การเรียนมาเมื่อ พ.ศ. 2539 เดิมศูนย์การเรียนแห่งนี้ได้ตั้งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งตอนนั้นได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน คือ นายธนา กิจซื่อตรง จากนั้น ผู้ใหญ่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลหนองไม้งาม จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน จากบ้านสายตรี 10 มาเป็นบ้านสายตรี 10 พัฒนา และท่านได้ร่วมจัดตั้งศูนย์การเรียนขึ้นในหมู่บ้านร่วมกับครูอาสา ครู ศรช. โดยใช้งบประมาณจากหมู่บ้าน ซึ่งศูนย์การเรียนชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาขึ้น จนกระทั่งได้มีการซื้อที่ดินใหม่ เพราะที่ดินเดิมเป็นที่ดินของชาวบ้านจำนวน 1 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ต่างๆ เป็นศาลากลางหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นที่พบปะของชุมชนในหมู่บ้านและตำบล โดยศูนย์แห่งนี้ ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนหลายเรื่อง เช่น เป็นศูนย์การเรียนชุมชน เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรฯลฯ ซึ่งได้รับงบประมาณ
ต่างๆ จากหลายหน่วยงาน โดยเริ่มก่อตั้ง ศรช. ใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ถึง 26 กรกฎาคม 2542 จนแล้วเสร็จโดยได้งบประมาณมาจากส่วนต่างๆ ดังนี้
1. จากกองทุนหมู่บ้านบ้านสายตรี 10 111,538 บาท
2. องค์ดารบริหารส่วนตำบล 233,000 บาท
3. จากรัฐบาล 100,000 บาท
รวม 445,538 บาท
ระยะเวลาการจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนชุมชนแห่งนี้ รวม 15 ปี
ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนบ้านสายตรี 10 หมู่ 11 แห่งนี้มีผู้ดูแลและมีคณะกรรมการ
ศูนย์การเรียนที่รับผิดชอบดังนี้
1. นายธนา กิจซื่อตรง นายกเทศมนตรี ประธานกรรมการ
2. นายจินดา จงประโคน กำนัน รองประธาน
3. นางสุพิน อยู่จงดี สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการ
4. นายสมชาย หมั่นเพียร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 กรรมการ
5. นางสุพิน อยู่จงดี สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการ
6. นางจำปี บ่อทอง ประธานกลุ่มสตรี กรรมการ
7. น.ส.กัลจนา ขาดรัมย์ นักวิชาการศึกษา กรรมการ
8. น.ส.ทิภาพร บุญประสาสท นักพัฒนาชุมชน กรรมการ
9. นายปริญญา เอ็นมาก ครู กศน.ตำบล เลขานุการ
10. นายธนวัตน์ กระมล ครูอาสาสมัครฯ ผช.เลขานุการ
11. นายสมพร หลงพิมาย ผอ.กศน.บ้านกรวด ที่ปรึกษา
สภาพทั่วไปของศูนย์การเรียนชุมชนหนองไม้งามบ้านสายตรี 10 พัฒนา
ศูนย์การเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนราชการหลายส่วน และจากส่วนประชาชนรวมทั้งสิ้น 445,538 บาท โดยมีลักษณะเป็นศูนย์ที่มีสนามเด็กเล่น สนามกีฬา ภายในศูนย์การเรียน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นคอนกรีตทั้งหมดและเป็นแหล่งพบปะประชาชนในหมู่บ้านและในตำบล มีห้องสมุดในศูนย์การเรียนเละมีห้องสาธารณสุขมูลฐาน ศูนย์แห่งนี้เป็นที่พบกลุ่มของนักศึกษาตำบลหนองไม้งามทั้งระดับประถม ม.ต้น และม.ปลายเป็นประจำ มีเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม 1 เครื่อง โทรทัศน์ 1 เครื่อง วีซีดี 1 เครื่อง และมีหอกระจายข่าว ศูนย์การเรียนชุมชนแห่งนี้ยังได้รับให้เป็นศูนย์การเรียนชุมชนเฉลิมพระเกียรติ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ อีกทั้งยังเป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน
สภาพทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง
กศน.ตำบล.หนองไม้งาม เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านสายตรี 10 พัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งใน 15 หมู่บ้านของตำบลหนองไม้งาม อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 17 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองไม้งามเก่าเหนือ หมู่ที่ 4 และตำบลบึงเจริญ
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสายตรี 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไม้งาม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสายตรี 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไม้งาม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองไม้งาม 2 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองไม้งาม
เนื้อที่
หมู่บ้านสายตรี 10 พัฒนา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,501 ไร่ โดยแบ่งได้ดังนี้
พื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 350 ไร่
พื้นที่เกษตรประมาณ 2150 ไร่
พื้นที่ศาลาอเนกประสงค์ ( ศรช.) ประมาณ 1 ไร่
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงทางทิศใต้และลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออกเป็นที่ลุ่มสลับกับที่ดอน ส่วนทางทิศเหนือเป็นที่ราบ
การปกครอง
กศน.ตำบล หนองไม้งาม บ้านสายตรี 10 พัฒนา ปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของหมู่บ้านสายตรี 10 พัฒนา หมู่ที่ 11 มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง คือ นายสมชาย หมั่นเพียร ซึ่งมีกำนันตำบล
หนองไม้งาม คอยดูแล คือ นายจินดา จงประโคน มีนายกเทศมนตรีตำบลหนองไม้งาม คือ นายธนา กิจซื่อตรง เป็นผู้ให้การดูแลและเป็นที่ปรึกษาในเรื่องงานต่างๆ ทุกเรื่องของศูนย์การเรียนชุมชน
วิสัยทัศน์
กศน.ตำบลตำบลหนองไม้งาม มุ่งบริหารจัดการและส่งเสริมการศึกษาให้นักศึกษาเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นศูนย์การเรียนที่พัฒนาการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพให้สำฤทธิ์ผล ผู้เรียนรักความเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
พันธกิจ
1. บริหารจัดการด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน
2. พัฒนาบุคลากรและนักเรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม
3. มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมไทย
4. ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. พัฒนาสายสามัญและอาชีพของชุมชน
6. พัฒนาระบอบประชาธิปไตยภายในชุมชน
คุณภาพของงานการสอนสายสามัญ
กระบวนการสอนของครู กศน.ตำบลหนองไม้งามมีดังนี้
1. ใช้กระบวนการสอนแบบพบกลุ่มนักศึกษาตามวันและเวลาที่กำหนดในแต่ละภาคเรียน
2. ใช้เทคนิคการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนคือ วีดีทัศน์ วีดีโอ วีซีดี และการศึกษา
ทางไกลจากดาวเทียม
3. พานักศึกษาทำโครงงานที่น่าสนใจ ในแต่ละภาคเรียนและตามเนื้อหาวิชาที่เรียน
4. จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน และแบบกลุ่ม ปฏิบัติกิจกรรมตามใบงาน
5. จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
6. ประเมินผลการเรียนรู้โดยการทดสอบย่อยทุกภาคเรียน
7. ประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียนและหลังเรียน
8. ประเมินผลโดยการสอบปลายภาคเรียน
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสายสามัญ
1. พบกลุ่มนักศึกษา
2. ทำโครงงาน
3. ใช้กิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
4. ทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
5. สอบกลางภาค ทดสอบย่อย
6. สอบปลายภาค
กศน.ตำบลหนองไม้งาม
ได้มีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนให้กับชุมชนภายในตำบลหนองไม้งามดังนี้
1. การจัดการศึกษาพื้นฐาน
1.1 จัดกิจกรรมการศึกษาให้กับชุมชนทางสายสามัญทั้งระดับประถม ม.ต้น
ม. ปลาย
1.2 จัดกิจกรรมส่งเสริมให้กับผู้ไม่รู้หนังสือ
2. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
2.1 จัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์
2.2 จัดอบรมเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด
2.3 จัดอบรมส่งเสริมประชาธิปไตย
2.4 จัดอบรมเข้าค่ายคุณธรรมและจริยธรรม
2.5 จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน
2.6 จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย
2.7 กีฬาสัมพันธ์ กศน.ตำบล
2.8 ดูงานแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
3.1 จัดอบรมการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.2 จัดกิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
3.3 โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ
3.4 จัดเวทีชาวบ้าน
3.4 โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
3.5 โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ
4. การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาอาชีพ
4.1 จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาบุคลากรกลุ่มพัฒนาอาชีพ
4.2 จัดโครงการวิสาหกิจชุมชน การแปรรูปเห็ด
4.3 โครงการ 1 ศรช. 1 อาชีพ การทำไส้กรอก
4.4 ส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพมีการพัฒนาฝีมือในด้านต่างๆ โดยจัดวิทยากรมาให้
ความรู้เพิ่มเติม เช่นการเพาะเห็ดฟาง การทำดอกไม้ เป็นต้น
4.5 จัดโครงการคูปองการศึกษา ตำบลหนองไม้งาม ส่งเสริมอาชีพการทำน้ำ
เต้าหู้ทรงเครื่อง
ปัญหาและอุปสรรคในการจัดกิจกรรม
1. ด้านการศึกษาพื้นฐาน
ปัญหาและอุปสรรค
1.1 ขาดสื่อ/วัสดุอุปกรณ์ในการสอน เช่น แบบเรียน โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องเสียง เป็นต้น
1.2 ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย
1.3 งบประมาณในการพัฒนา กศน.ตำบล
1.4 ครูขาดความรู้ในเนื้อหาบางรายวิชา
1.5 สถานที่พบกลุ่ม
แนวทางแก้ไข
1.1 ของบประมาณจากเครือข่ายในชุมชน เช่น เทศบาล
1.2 จัดการเรียนโดยให้วิทยากรมาสอนเสริม
1.3 จัดหมุนเวียนสื่อการเรียนการสอนจากห้องสมุดประชาชน
1.4 จัดอบรมให้แก่ครูผู้สอนในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ
2. ด้านทักษะชีวิต
ปัญหาและอุปสรรค
2.1 กลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เช่น โรคเอดส์ ยาเสพติด เรื่องประชาธิปไตย เป็นต้น
2.2 ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพอนามัย การป้องกันชีวิตที่ถูกต้อง
แนวทางแก้ไข
2.1 จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรคเอดส์
ยาเสพติด เรื่องประชาธิปไตย เป็นต้น
2.2 จัดอบรมวิธีการป้องกันและแก้ไขให้กับชุมชน
3. ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน
ปัญหาและอุปสรรค
3.1 กลุ่มเป้าหมายขาดการรับรู้ข่าวสารที่ทันสมัย
3.2 กลุ่มเป้าหมายขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ต้องเข้าไปรับผิดชอบ
3.3 กลุ่มเป้าหมายขาดความรู้ความเข้าใจในบางเรื่อง เช่น การเรียนรู้ผ่าน
อินเตอร์เน็ต การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
แนวทางแก้ไข
3.1 จัดอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายเรื่องข้อมูลข่าวสาร
3.2 จัดอบรมวิธีการเขียนโครงการเพื่อขอสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.3 จัดอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายเรื่องวิทยาการสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย
4. ด้านการพัฒนาอาชีพ
ปัญหาและอุปสรรค
4.1 ขาดวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านต่างๆ
4.2 วิทยากรในการสอนกลุ่มอาชีพ อยู่นอกพื้นที่ทำให้เสียค่าใช้จ่าย
4.3 วัตถุดิบในการประกอบกิจกรรมแต่ละอย่างอยู่ห่างไกลและมีราคาแพง
4.4 ตลาดในการขายสินค้าบางอย่างยังมีน้อย
4.5 สมาชิกในกลุ่มขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดทำบัญชี
4.6 การบริหารจัดการในกลุ่มยังไม่เข้มแข็ง
4.7 ระยะเวลาในการประกอบกิจกรรมกลุ่มขาดการต่อเนื่อง
4.8 วัสดุมีราคาแพง และไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน
4.9 วัสดุต้องซื้อมาจากที่อื่นไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้และต้องนำมาจากต่างพื้นที่
4.10 ต้นทุนของวัสดุบางอย่างต้องมีการสั่งซื้อใช้เวลานานและราคาสูงทำให้ต้น
ทุนค่อนข้างสูง
4.11 งานบางอย่างต้องใช้ฝีมืออย่างประณีตละเอียดอ่อนและใช้ความคิดสร้าง
สรรค์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่เพื่อจะสามารถดึงดูดใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี
แนวทางแก้ไข
4.1 ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ
4.2 จัดหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น โดยการสำรวจตลาดก่อนที่จะผลิต
สินค้าและมีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางขึ้น
4.3 การจัดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเน้นความประณีตละเอียดอ่อนและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดทำผลิตภัณฑ์ทุกชนิด เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และมีความแปลกใหม่ของสินค้า
การแก้ไขปัญหาความยากจน
ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและได้มีคำสั่งให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกฝ่าย โดยภาครัฐมีบทบาทในการให้บริการประชาชน ในด้านต่าง ๆ นั้นและในการนี้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ้านกรวด ได้มีบทบาทร่วมดำเนินการกับตำบลหนองไม้งาม โดยมีคำสั่งให้ดำเนินการและมีส่วนร่วมต่าง ๆ ดังนี้
1. เรื่องการดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้อยู่ดีมีสุข
2. เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนเพื่อเป็นกลไกดำเนินการ
3. เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ( กศน. เป็นอนุกรรมการ ในฐานะผู้แทน กระทรวงศึกษาธิการ )
4. เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานแผนงานสนับสนุน การจัดทำแผนแม่บทชุมชน ( กศน.เป็นคณะทำงานในฐานะภาคีเครือข่าย )
กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขปัญหาของตำบลหนองไม้งาม
1. จัดประชุมคณะทีมงานใน กศน. บ้านกรวด เพื่อชี้แจงแนวนโยบายและการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนโดยได้รับคำแนะนำจากผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ให้นโยบายไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ เพื่อจะได้จัดกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง
2. ดำเนินการจัดเวทีชาวบ้านและทำประชาคมในชุมชนเพื่อระดมความคิดเห็นจากชุมชนในการต้องการให้เกิดการจัดอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการและรับทราบถึงปัญหาและแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับอาชีพร่วมกัน
3. การดำเนินการจัดกิจกรรมอาชีพต่าง ๆ ในตำบลหนองไม้งามโดยมีกิจกรรมการแก้จนให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การเพาะเห็ดฟาง การทอผ้า การทำอาหาร การทำน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ซาลาเปา การทำกระเพาะปลา ขนมปังสังขยา การทอเสื่อกก การสานตะกร้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การทำกระถางดอกไม้จากปูน เป็นต้น
4. สมาชิกเข้าร่วมโครงการทุกคน จะมีสมุดประจำตัว เพื่อจดบันทึกประวัติสถานภาพความเป็นอยู่ก่อนข้าร่วมโครงการ และบันทึกความก้าวหน้าในกิจกรรมที่ตนเองปฏิบัติโดยตลอด
ผลการดำเนินงานแก้จน
ทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เพิ่มขึ้น มีการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถพัฒนาฝีมือในอาชีพที่ดำเนินอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้มีอาชีพเสริมให้กับครอบครัวทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และทำให้กลุ่มอาชีพที่ร่วมกันดำเนินการได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการจัดทำผลงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกทั้งวิทยากรได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ที่มีอยู่ให้กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ต่อไป
จำนวนหมู่บ้าน มี 15 หมู่บ้าน อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 15 หมู่บ้านดังนี้
- บ้านหนองไม้งาม หมู่ที่ 1
- บ้านหนองไม้งามเก่า หมู่ที่ 2
- บ้านหนองตะลุมพุก หมู่ที่ 3
- บ้านหนองไม้งามเก่าเหนือ หมู่ที่ 4
- บ้านโคกวัด หมู่ที่ 5
- บ้านสายตรี 9 หมู่ที่ 6
- บ้านตะลุมพุก หมู่ที่ 7
- บ้านสายตรี 16 หมู่ที่ 8
- บ้านหนองไม้งามใหม่ หมู่ที่ 9
- บ้านงามเจริญพัฒนา หมู่ที่ 10
- บ้านสายตรี 10 หมู่ที่ 11
- บ้านสายตรี 16 พัฒนา หมู่ที่ 12
- บ้านงามสะอาด หมู่ที่ 13
- บ้านงามใต้สามัคคี หมู่ที่ 14
- บ้านตะลุมพุก หมู่ที่ 15
ประชากรทั้งสิ้น 9325 คน แยกเป็นชาย 4,642 คน เป็นหญิง 4,683 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 154.66 คนต่อตารางกิโลเมตร
อาณาเขตมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองไม้งามเก่าเหนือ หมู่ที่ 4 และตำบลบึงเจริญ
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสายตรี 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไม้งาม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสายตรี 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไม้งาม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองไม้งาม 2 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองไม้งาม
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่สูงทางทิศใต้ (ระดับความสูง 210 เมตร) ลาดต่ำมาจากทิศตะวันออก (ระดับความสูง 160 เมตร) ทำให้พื้นที่ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มสลับที่ดอน ส่วนทางภาคเหนือเป็นที่ราบสลับคลื่นบางส่วน
สภาพทางเศรษฐกิจ
1. อาชีพ ประชากรในตำบลหนองไม้งาม มีการประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้
ทำนา ประมาณ 1,089 คน
ทำไร่ ประมาณ 2,000 คน
ทำสวน ประมาณ 1,500 คน
ค้าขาย ประมาณ 100 คน
อื่นๆ ประมาณ 1,000 คน
2. หน่วยธุรกิจในตำบล ที่สำคัญ มีปั้มน้ำมัน 5 แห่ง ร้านค้า ประมาณ 120 ร้าน
สภาพทางสังคม
1. การศึกษา มีโรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่ง ( ประถมศึกษาขยายโอกาส 2 แห่ง ) ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน ศูนย์การเรียนชุมชน 1 แห่ง
ภาษาที่ชาวตำบลหนองไม้งามใช้มีทั้งหมด 3 ภาษา
- ภาษาไทยโคราช ประมาณ ร้อยละ 50
- ภาษาไทยอิสาน ประมาณ ร้อยละ 40
- ภาษาเขมร ประมาณ ร้อยละ 10
2. สถาบันหรือองค์กรทางศาสนา ประกอบด้วย วัด/สำนักสงฆ์/ที่พักสงฆ์ รวม 9 แห่ง
3. การบริการสาธารณสุข ประกอบด้วยสถานีอนามัยบ้านหนองไม้งาม 1 แห่ง สำนักงาน สุขภาพชุมชน 1 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 1 แห่ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน 13 แห่ง
4. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบด้วย สถานีตำรวจภูธรตำบล หนองไม้งาม 1 แห่ง ที่ทำการตำรวจชุมชน 1 แห่ง
5. ประชากรจะนับถือ ศาสนาพุทธเป็นส่วนมาก จะอาศัย วัดบ้านหนองไม้งาม 1 วัดหนองไม้งาม 2 วัดตะลุมพุก วัดหนองไม้งามเก่าเหนือ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่
การบริการพื้นฐาน
1. การคมนาคม
1.1 การคมนาคมติดต่อกับอำเภอบ้านกรวด และอำเภอใกล้เคียง มีเส้นทางที่สำคัญ คือ
1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2075 เป็นถนนลาดยาง สภาพดีเชื่อมการคมนาคมระหว่างอำเภอบ้านกรวด ผ่านตำบลปราสาท ตำบลบึงเจริญ ตำบลหนองไม้งาม อำเภอบ้านกรวด ต่อไปจนถึงอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ถนน รพช.บร. 12008 ( บ้านหนองไม้งาม – บ้านกรวด ) เป็นถนนลูกรัง สภาพถนนคับแคบเป็นหลุมเป็นบ่อ แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2075 ที่หมู่ที่ 1 บ้านหนองไม้งามใหม่ ไปทางทิศตะวันออก ผ่านหมูที่ 5 บ้านโคกวัด ซึ่งสามารถสัญจร ต่อไปจนถึงอำเภอบ้านกรวด
1.2 การคมนาคมติดต่อกันภายในตำบล และตำบลใกล้เคียงมีเส้นทางที่สำคัญคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2075 ซึ่งเป็นสายหลักของตำบลหนองไม้งาม โดยมีเส้นทางผ่านมาจากทิศตะวันออกคือตำบลบึงเจริญ มาทางทิศตะวันออก ผ่านหมู่ที่ 6, 11, 2, 13, และ 4 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านหมู่ที่ 5, 9, 1, 7, และ 3 ผ่านไปอำเภอละหานทราย นอกจากนี้มีถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2, 5, 9, และ 10 ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และถนนลาดยางในหมู่บ้าน หมู่ที่ 10, 11 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร นอกนั้นเป็นถนนลูกรังเชื่อมการคมนาคมระหว่างหมู่บ้านและสัญจรภายในหมู่บ้าน สภาพถนนคับแคบเป็นหลุมเป็นบ่อ ถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย
2. การโทรคมนาคม ประกอบด้วย ที่ทำการไปรษณีย์เอกชน 1 แห่ง โทรศัพท์สาธารณะ 10 แห่ง
3. การมีไฟฟ้าใช้ ในตำบลหนองไม้งาม มีไฟฟ้าเข้าถึงและให้บริการภายในตำบล ครบทั้ง 14 หมู่บ้าน แต่ยังมีครบทุกครัวเรือน
4. แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ลำห้วย ลำน้ำ 3 สาย หนองบึง 6 แห่ง
5. แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น บ่อน้ำตื้น 149 แห่ง บ่อโยก 30 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 14 แห่ง ถังเก็บ น้ำฝน 10 แห่ง
6. ข้อมูลอื่นๆ
6.1 ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ได้แก่ ป่าไม้ซึ่งคงมีสภาพป่าเหลือน้อย เนื่องจากการบุกรุกเผาถางทำลาย เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการรลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำรวมทั้งราษฎรส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จักพอ ยังคงทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง
6.2 มวลชนจัดตั้ง ลูกเสือชาวบ้าน 3 รุ่น รวม 500 คน กองหนุนเพื่อความมั่นคง 1 รุ่น 50 คน อพปร. 1 รุ่น 50 คน
สถานที่ท่องเที่ยว
ตำบลหนองไม้งามมีสถานที่ท่องเที่ยวคือ วัดขุนเขาพินิจ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 10 ตำบลหนองไม้งาม อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่พักผ่อนทางจิตใจ และยังมีถ้ำที่เขาแห่งนี้มีบรรยากาศดี สามารถชมทิวทัศน์ ได้สวยงามมากเพราะอยู่บนภูเขาสูง
สินค้าพื้นเมือง
ตำบลหนองไม้งามมีสินค้าที่จำหน่ายในท้องถิ่น ดังนี้
1. ผ้าไหมมัดหมี่
2. ตะกร้าจากหวาย ไม้ไผ่
3. สุ่มไก่
4. ผลิตผลทางการเกษตร
5. ดอกดาวเรือง
6. ผักและผลไม้
7. สานหญ้าคา
8. มันสำปะหลัง
9. อ้อย
10. แตงโม
11. ขนมกะหรี่บัพ
12. กระท่อมจากไม้ไผ่
13. โต๊ะเก้าอี้จากไม้ไผ่
14. ยางพารา
ประเพณีและวัฒนธรรม
ตำบลหนองไม้งามมีเทศกาลต่างๆที่กระทำการติดต่อมาหลายปี เช่น
1. เทศกาลขึ้นปีใหม่
2. เทศกาลสงกรานต์
3. เทศกาลเข้าพรรษา
4. เทศกาลออกพรรษา
5. เทศกาลบุญข้าวสารทเล็ก
6. เทศกาลบุญข้าวสารทใหญ่
7. เทศกาลลอยกระทง
ตำบลหนองไม้งามมีประเพณีต่างๆ ที่ถือปฏิบัติกันมาติดต่อกันจนถึงปัจจุบันนี้เช่น
1. ประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่
2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ
3. ประเพณีทำบุญสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
4. ประเพณีบุญบั้งไฟ จะมีการแข่งขันทำบั้งไฟประกวด
5. ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา
6. ประเพณีจ๊ะโดนตา
7. ประเพณีทำบุญข้าวสารท
8. ประเพณีทอดผ้าป่า
9. ประเพณีทอดกฐิน
10. ประเพณีการแข่งขันกีฬาแม่บ้าน พ่อบ้าน และเยาวชนในตำบล
11. ประเพณีการแข่งขันกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบล
12. ประเพณีการลอยกระทง มีการประกวดกระทงเป็นประจำทุกปี
13. ประเพณีทำบุญขึ้นตาปู่ (ศาลตาปู่) ทุกเดือน 3 ของปี
ข้อมูลพื้นฐาน
เข้าชม : 797 |
|
|
|
|