การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านกรวดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต ในด้านการบริการสารสนเทศ ด้านทรัพยากรสารสนเทศ และด้านความสัมพันธ์กับชุมชน รวมทั้งพัฒนารูปแบบและฝึกอบรมการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตให้บุคลากรห้องสมุดและประชาชนในชุมชนเบื้องต้นได้วางแผนพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต ผู้วิจัยได้แจกแบบสอบถามเพื่อศึกษาความต้องการของประชาชนในชุมชน ผู้บริหาร บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ จำนวน 100 ฉบับ หลังจากสำรวจความต้องการเบื้องต้นแล้วได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ผลการศึกษาดังนี้
การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 26-40 ปี ประกอบอาชีพอิสระ มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีใช้บริการห้องสมุดระหว่าง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือประเภทของทรัพยากรสารสนเทศที่ใช้บริการบ่อยที่สุด คือ หนังสือ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการห้องสมุดที่พบบ่อย คือ หนังสือเก่า ล้าสมัยและหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดไม่ตรงกับความต้องการสำหรับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตนั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างต้องการมีส่วนร่วมด้านการบริการสารสนเทศ ด้านทรัพยากรสารสนเทศและด้านความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง รูปแบบของห้องสมุดมีชีวิตที่ต้องการให้มีในอนาคตด้านการบริการ คือ ต้องการข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับห้องสมุด ด้านรูปแบบของข่าวสารต้องการข่าวสารบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ห้องสมุด ด้านทรัพยากรสารสนเทศ คือ ต้องการให้ห้องสมุดจัดหาหนังสือ ด้านรูปแบบของทรัพยากรสารสนเทศนั้นต้องการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และด้านกิจกรรมที่ต้องการให้ห้องสมุดจัดทำขึ้น คือ การแนะนำหนังสือใหม่
การพัฒนารูปแบบห้องสมุดมีชีวิตนั้น ผู้วิจัยนำผลจากการสำรวจเบื้องต้นมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บริการ ด้วยการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บริการมากที่สุด พร้อมทั้งออกแบบระบบห้องสมุดมีชีวิตและพัฒนาระบบในด้านบริการสารสนเทศด้วยการจัดทำเว็บไซต์และฐานข้อมูล ส่วนด้านทรัพยากรสารสนเทศ จะพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการสแกนเอกสารและหนังสือที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในชุมชน รวมทั้ง จัดทำวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อความรู้ ตลอดจนติดตั้งระบบห้องสมุดมีชีวิต
การฝึกอบรมเน้นการพัฒนารูปแบบห้องสมุดมีชีวิตที่เหมาะสมให้ประชาชนในชุมชน ตลอดจนบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานห้องสมุด พร้อมทั้งประเมินผลการฝึกอบรม ผลการประเมิน พบว่าผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 20-40 ปี เป็นนักศึกษา (กศน.) มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อการฝึกอบรมห้องสมุดมีชีวิตในด้านหัวข้อวิชา ด้านวิทยากรและด้านความเหมาะสมของโครงการในภาพรวมพบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและได้นำผลจากการประเมินมาปรับปรุงเว็บไซต์เรื่องสีสัน เมนูและสารสนเทศที่นำเสนอ รวมทั้งฐานข้อมูลและด้านทรัพยากรให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ หลังจากนั้นได้ติดตามผลและเผยแพร่รูปแบบห้องสมุดมีชีวิตสู่ชุมชนต่อไป