ลักษณะที่ตั้ง
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอลำปลายมาศ ระยะทางจากอำเภอลำปลายมาศ ประมาณ 17 กิโลเมตร ตำบลบุโพธิ์มีพื้นที่ทั้งหมด 33.75 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับเป็นดินร่วนเป็นทรายพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการเกษตร เช่น ทำนา และปลูกอ้อย มีพื้นที่สาธารณะประโยชน์บางส่วน มีหมู่บ้านทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีดังนี้
1. บ้านบุโพธิ์
2. บ้านตูมหวาน
3. บ้านบุผู้หญิง
4. บ้านหนองเจ้าหัว
5. บ้านหนองตาบุญ
6. บ้านใหม่ไทยเจริญ
7. บ้านนาศรีนวล
8. บ้านหนองแวงงาม
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีครูอาสาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอลำปลายมาศได้มาสำรวจและรับสมัครชาวบ้านที่ยังไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งช่วงนั้นได้อาศัยอาคารหลังเก่า คือ โรงเรียนวัดสว่างบุโพธิ์เป็นที่ทำการสอน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๙ มีชาวบ้านมาสมัครเรียนเป็นรุ่นที่ ๒ โดยรับสมัครในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมีการทำกิจกรรมร่วมด้วย ขณะนั้นทางศูนย์ยังไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับการเรียนการสอน ชาวบ้านพร้อมนักศึกษาร่วมมือกันจัดกิจกรรมการลอยกระทง เพื่อหารายได้มาซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว และสามารถจัดซื้อได้จำนวน ๒ ชุด พ.ศ. ๒๕๔๑ ผอ.สมิง เสมียนรัมย์ ได้รับจัดหางบประมาณ และเงินบริจาคบริษัทปูนซีเมนต์ไทย โดยได้รับบริจาคเป็นกระเบื้อง ปูนซีเมนต์ และอิฐ ส่วนไม้ เหล็ก รวมถึงช่าง ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาค สนับสนุน โดยมีคณะทำงานคือ
นายเจริญ สครรัมย์ ประธาน
ผอ. สมิง เสมียนรัมย์ ประธานฝ่ายประสานงาน
นายประดับศรี กรรณลา ประธานฝ่ายนักศึกษา
พ.ศ.๒๕๔๒ ได้สร้างเสร็จสิ้นและได้รับโล่เกียรติพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ครบ ๖ รอบ ๕ ธันวามหาราช จากสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี นับเป็นเกียรติอันสูงสุดของชาวบ้านและนักศึกษา
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมีกิจกรรมดังต่อไปนี้
๑. การทำบ่อซีเมนต์เลี้ยงปลา
๒.การสร้างเรือนเพาะชำเห็ดฟาง และเห็ดนางฟ้า
๓.การสอนถนอมอาหาร
๔.สร้างหัตกรรมฝีมือ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
๕.จัดการเรียนการสอนผ่านดาวเทียม
๖.การศึกษาดูงาน
การปกครอง
แบ่งเขตการปกครองตาม พ.ร.บ. ลักษณะ ปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 จำนวน 8 หมู่
สภาพเศรษฐกิจ :อาชีพหลัก ทำนา อาชีพเสริม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกอ้อย ยางพารา เลี้ยงสัตว์
การพบกลุ่ม :กศน.ตำบลบุโพธิ์ มีจุดพบกลุ่มนักศึกษาและให้บริการงานกศน. จำนวน 1 จุด ได้แก่ กศน. ตำบลบุโพธิ์(ภายในบริเวณวัดบ้านบุโพธิ์
วิสัยทัศน์ กศน.ตำบลบุโพธิ์ จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบร่วมกับเครือข่าย โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มุ่งสู่ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา