นักโบราณคดีคาดว่า พระปรางค์องค์นี้มีอายุประมาณ 1,000 ปี ที่ปรางค์ประธานองค์กลางมีทับหลังเป็นรูปศิวะนาฏราช และเทพองค์อื่นเล่นดนตรีประกอบ เช่น พระนลตีกลอง พระพรมตีฉิ่ง พระอุมาถือไม้เท้าขาคน เป็นต้น
ส่วนทับหลังด้านอื่นๆ สลักเป็นรูปเทวตำนานต่างๆ เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ กุมารวตรา การกวนเกษียรสมุทร วามนาวตาร พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รูปเทวดาทับเหนือเกียรติมุข ฯลฯ
น่าเสียดายที่ทับหลังบางชิ้นถูกขโมยขายต่างประเทศ แต่บางชิ้นก็ได้กลับคืนมา ปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา
ปรางค์กู่สวนแตง เป็นอาคารสถานที่ประกอบศาสนกิจในศาสนาฮินดูตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แต่พอมาถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน นิกายวัชรยาน ปรางค์องค์นี้จึงเป็นที่ประกอบศาสนกิจในศาสนาพุทธแทน
พระปรางค์องค์นี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยโบราณ โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา
ปรางค์กู่สวนแตงเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า ทั้งทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมอย่างประเมินค่ามิได้ โดยในเดือน 6 ของทุกปี ชาว อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จะร่วมกันจัดงานประเพณีปรางค์กู่สวนแตง และบุญบั้งไฟ สืบทอดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ในปีนี้มีการจัดงานประเพณีปรางค์กู่สวนแตง และงานบุญบั้งไฟ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยเทศบาลตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ ร่วมกับ 5 องค์การบริหารส่วนตำบลในเขต อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และส่วนราชการต่างๆ ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีบรวงสรวงปรางค์กู่สวนแตง ขบวนแห่ ขบวนฟ้อนรำ ขบวนบั้งไฟอันสวยงามจาก 5 ตำบล ส่วนในช่วงค่ำมีการแสดง แสง สี เสียง “ตำนานปรางค์กู่สวนแตง" การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง และมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน
ตำนานการจุดบั้งไฟพญานาคของที่นี่ก็คล้ายกับตำนานของชาวอีสานโดยทั่วไป กล่าวคือ เมื่อ "พญาคันคาก" รบชนะ "พญาแถน" ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน พญาคันคากจึงขอให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกลงมาเพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์โลก
พญาแถนจึงสั่งไว้ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการฝนเมื่อใดก็ให้จุดบั้งไฟขึ้นเป็นสัญญาณบอก แล้วจะบันดาลให้ฝนตกลงมาตามที่ต้องการ
ดังนั้น ชาวอีสานจึงมีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานดังกล่าวเพื่อบูชาพญาแถนเพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก่อนที่ฤดูเพาะปลูกจะมาเยือน
นายมงคล สุระสัจจะ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงความสำคัญของงานประเพณีปรางค์กู่สวนแตงว่า การจัดงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว
กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการสร้างความรักความสามัคคีระหว่างประชาชนใน อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ อีกด้วย เนื่องจากปรางค์กู่สวนแตงเป็นโบราณสถานอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาว อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ มาช้านาน
ภาคภูมิ ลิ้มรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ กล่าวเสริมว่า การจัดงานประเพณีดังกล่าว วัตถุประสงค์หลัก คือ เป็นการสร้างความรักสามัคคีของประชาชนในพื้นที่
ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานเก่าแก่ประจำถิ่น จึงมีการจัดงานประเพณีนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมและศึกษาประวัติความเป็นมาของปรางค์กู่สวนแตงแห่งนี้ และเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ กล่าวถึงแนวทางการบูรณะพัฒนาปรางค์กู่สวนแตงในอนาคตว่า เทศบาลได้ประสานกับสำนักศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา เพื่อสำรวจ และออกแบบ ก่อนที่จะมาบูรณะปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สวยงาม น่าศึกษา และเที่ยวชมมากขึ้น หากมีการสำรวจออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว เทศบาลก็จะจัดหางบประมาณมาดำเนินการบูรณะพัฒนาต่อไป