|
|
ประวัติบ้านยาง
บ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งมาแต่สมัยอยุธยา โดยชาวลาวจากเมืองจำปาสักกลุ่มหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ลานช้าง เกิดการขบฎในเมืองเวียงจันทร์ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำโดยพระครูโพนเสม็ดหรือพระครูวัดโพนเสม็ก (พระครูขี้หอม)ได้พาพรรคพวกอพยพหนีออกจากเวียงจันทร์ ลงมาอยู่ที่นครจำบากนาคบุรีศรี ซึ่งมีนางเพาเป็นเจ้าเมือง และมีบุตรีชื่อนางแพง นางเพา นางแพง มีความเลื่อมใสศรัทธาพระครูโพนเสม็ด ประจวบกับเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวายยุ่งยาก พระครูโพนเสม็ด จึงได้แนะนำให้เจ้าหน่อกษัตริย์ โอรสของพระเจ้าสุริยวงศาธิราชเจ้าเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งขณะนั้น ลี้ภัยอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก (น่าจะเป็นโนนบ้านงิ้วในเขตตำบลบ้านยาง) ได้แต่งงานกับนางแพง ขึ้นครองเมืองกาลจำบากนาคบุรีศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๒ (ตรงกับสมัยแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา) พร้อมกันนั้น ได้ถวายพระนามเจ้าผู้ครองนครองค์ใหม่ว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทร พุทธางกูร”และเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ เป็น “นครจำปาศักดิ์ นัคบุรีศรี”1 ตั้งแต่นั้นนครจำปาศักดิ์ ปกครองโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทร พุทธางกูร และได้ทรงแต่งตั้งพระครูโพนเสม็ดเป็นอุปฮาด หรืออุปราช (ท่านน่าจะเคยเดินทางมาที่บริเวณบ้านซาด เพราะบ้านยางได้ทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าพ่ออุปฮาด ที่บ้านซาดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ทุกปีไม่เคยขาด) ได้แต่งตั้งเจ้านายและบรรดาศิษยานุศิษย์ออกไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อนครจำปาศักดิ์สมัยนั้น ในบรรดาศิษย์ของพระครูโพนเสม็ดนั้น มีกลุ่มชาวบ้านที่อพยพนั้น มีกลุ่มหนึ่งนำโดย เพียขัน ได้ข้ามเทือกเขาเข้ามาในเขตอำนาจปกครองของกรุงศรีอยุธยา ถึงบริเวณเมืองนางรอง และตำนานบ้านยางลาวจึงได้ปรากฏขึ้นดังนี้ คำว่า “เพียขัน” มีประวัติเล่ามาว่า เป็นข้าราชการจากจำปาสัก เป็นลูกศิษย์พระครูโพนเสม็ด (ได้ดำรงตำแหน่งอุปฮาด ของจำปาสัก) ประเทศลาว คำว่า เพีย เป็นตำแหน่งราชการ คำว่า ขัน เป็นชื่อของท่าน (ต้นตระกูลเพียขันทา) มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งเวียงจันทร์เกิดกบฎ ทางการต้องการกวดล้างสำเร็จโทษฝ่ายตรงข้ามให้หมด ท้าวเพียขันจึงพาครอบครัวอพยพหนี ข้ามภูเขา เข้ามาในเขตประเทศไทย เพราะท่านเป็นราชการจึงถูกหมายให้จับสังหารเสีย ท่านต้องการจะหนีไปนครวัด นครทม ประเทศเขมร แต่เพราะเสบียงอาหารหมดในระหว่างทาง จึงไปไม่ถึงนครวัด ได้แวะพักอยู่เมืองอรัญประเทศ (อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ) เมื่อทราบว่า พระครูโพนเสม็ด ได้เป็นอุปฮาดในเมืองจำปาสัก ต้องการที่สนองพระเดชพระคุณท่านพระครู จึงตัดสินใจเดินทางจากเมืองอรัญญประเทศ เพื่อกลับบ้านเกิด จึงเดินทางผ่านมาทางเมืองนางรอง ซึ่ง ณ ที่นี้ เมื่อขาไปนั้น ท่านได้ให้พระสงฆ์สามรูป พักอยู่ที่นี่ จึงต้องการแวะกลับมารับพระสงฆ์สามรูป ซึ่งได้แก่ พระอาจารย์เจ้ย พระอาจารย์คาน และพระอาจารย์หงส์ (บุตรชายพ่อเพียขัน ต่อมาได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ที่รู้กันในนาม อุปัชฌาหงส์) เมื่อพบพระลูกชายแล้ว พ่อเพียขันจึงพักอยู่ที่บ้านท่าลาว ต่อมาเปลี่ยนเป็น นางรองปัจจุบัน สาเหตุที่ชื่อว่านางรอง เพราะว่า มีหญิงคนหนึ่งเดินทางมากับขบวนของท้าวเพียขันเกิดความอาลัยอาวรณ์คิดถึงบ้านเกิดที่จากมา จึงเอาแต่ร้องไห้จนสิ้นใจที่บ้านท่าลาวนี้ ชาวคณะจึงเปลี่ยนชื่อบ้านท่าลาว เป็นเมืองนางร้อง และกลายมาเป็นนางรองในปัจจุบัน และบ้านท่าลาวก็ยังเหลืออยู่ ในเขตอำเภอนางรอง (ปัจจุบันอยู่หน้าที่ว่าการ อ.นางรอง) แต่พ่อเพียขัน ได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทาง โดยท่านตัดสินใจที่จะตั้งถิ่นอยู่แถบลำน้ำ ใกล้ท่าลาวก่อน ต่อมาจึงออกสำรวจหาชัยภูมิที่เหมาะสมที่จะตั้งหมู่บ้านใหม่ จึงเดินเลียบตามลำน้ำ ซึ่งก็คือ ลำนางรองในปัจจุบันเดินเรื่อยมาทางทิศเหนือ จึงพบลำน้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน อันได้แก่ ลำนางรอง ลำปะเทีย และลำมาศ (ปัจจุบันชาวบ้านยางเรียกสถานที่ลำน้ำทั้ง ๓ มาบรรจบกันว่า ปากปะคาบ อยู่ด้านทิศใต้ของบ้านยาง) ต่อจากนั้นเหลือแต่ลำน้ำหลักคือลำมาศ ที่เกิดจากลำน้ำเล็ก ๆ จากเทือกเขาป่าดงใหญ่ติดกับอำเภอวังน้ำเขียว นครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี พ่อเพียขันเดินตามลำน้ำมาศมาเลื่อย ๆ จนถึงทุ่งกว้างแห่งหนึ่ง จึงพักอยู่ที่ทุ่งหินลาด จึงเรียกที่นี่ว่า ทุ่งเมืองเซา พักอยู่นานเท่าใดไม่ทราบได้ จึงเดินทางต่อไปเลียบลำมาศเรื่อยไปทางเหนือ จึงพบทุ่งละหานเหนือ (ทุ่งหานปลาค้าว ปัจจุบันอยู่เขตหมู่ที่ ๑๐ ตำบลบ้านยาง) เป็นทุ่งมีบริเวณกว้างขวาง มีน้ำ มีปลาอุดมสมบูรณ์ แต่เป็นลุ่มมาก เห็นว่าไม่เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน จึงเดินสำรวจเรื่อยไป พบเนินป่าทึบ (โนนอีข่า) อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาพันธ์ เป็นที่น้ำซึมไหลผ่านใต้ดินถัดจากโนนอีข่าไปจะเป็นทุ่งกว้างมีต้นสมอมากมาย (ปัจจุบันชาวบ้ายางเรียก ว่า ทุ่งส้มมอ หรือ ทุ่งสมอ) เป็นทางน้ำไหลผ่าน ด้านเหนือ เป็นโนนป่าทึบ กินบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันตกขึ้นไปทางทิศตะวันออก (โนนป่าช้าบ้านยาง) แต่เนื่องจากเป็นป่าทึบหนา จึงไม่เหมาะที่จะตั้งบ้านเรือน เลยชายป่าด้านเหนือจะมีป่าต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่มากมาย โดยขึ้นอยู่กระจายทั่วบริเวณ (คือบริเวณวัดโพธิ์ย่อย และโรงเรียนบ้านยางปัจจุบัน) มีลักษณะคล้ายเคยเป็นบ้านเมืองเก่ามาก่อน และทิศตะวันตกป่าโพธิ์ จะมีลำห้วยไหลมาบรรจบกัน มีต้นยาง และต้นไทรมากมาย (บริเวณฝายอุดมหรือหนองไผ่ (ฮ่องไผ่) ติดป่าโพธิ์ด้านเหนือ เป็นโนนป่าต้นขี้ตุ่นเกิดอยู่ และเป็นโนนที่เหมาะสม ที่จะตั้งบ้านเรือน เพียขันจึงตัดสินใจตั้งบ้านเรือนที่โนนนี้ (บริเวณบ้านยาง หมู่ที่ ๑ ติดกับบริเวณวัดโพธิ์ย่อย ) เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว ก็ย้ายครอบครัวจากท่าลาวมาปักหลัก ตั้งถิ่นฐานที่โนนนี้ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านขี้ตุ่นใหญ่ ด้านทิศตะวันออกไปเป็นโนนขี้ตุ่นเช่นกัน จึงตั้งชื่อว่า “บ้านขี้ตุ่นน้อย” (บ้านกลาง หมู่ที่ ๘ ปัจจุบัน) เริ่มตั้งถิ่นฐาน ประกอบสัมมาชีพที่นี่ตลอดมาและตั้งชื่อรวมๆ ว่า บ้านยางลาวเพราะมีต้นยางใหญ่น้อยมากมาย ตามลำห้วยบริเวณใกล้หมู่บ้าน และขึ้นอยู่การปกครองภายใต้อำนาจเจ้าเมืองจำปาสัก และเมืองจำปาสัก เป็นหัวเมืองขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง มีข้อมูลจากจังหวัดบุรีรัมย์ว่า เนื่องจากบ้านยาง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ขึ้นชื่อมี ๒ บ้าน คือบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอเมือง และบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ ทางราชการจึงให้ชื่อบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ ว่า บ้านยางลาว และเป็นชื่ออย่างเป็นทางการด้วย หลังจากตั้งหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว พ่อเพียขันเองได้ย้ายครอบครัวของท่านและชาวบ้านบางส่วน ไปอยู่ที่โนนบ้านใต้ เรียกว่า “บ้านยางใต้” (ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านยางปัจจุบัน) เพื่อหาทำเลเลี้ยงช้างของท่าน และได้สร้างวัดขนาดย่อม ๆ ขึ้นที่นั้น เรียกว่า “วัดบ้านใต้” ปัจจุบันยังมีปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ (บริเวณทิศใต้ของโนนบ้านใต้ มีร่องรอยของโบสถ์) และต่อมามีกลุ่มโจรชื่อ “หม่องสามหัว” เข้ามาปล้นบ้านบ้านใต้ แต่ถูกพวกเพียขันจับได้ จึงฆ่าพวกโจรตายทั้งหมด และสถานที่ประหารโจร ยังมีเหลืออยู่ให้เห็น เป็นหลักไม้ใกล้กับบ้านใต้ ที่เพียขัน ได้เลือกบริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงช้าง เพราะเป็นที่มีหญ้า และน้ำอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดลำมาศ ใกล้กับโนนบ้านใต้มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ ๔ หนอง ท่านจึงให้ช้างทั้งสี่ตัว อยู่ตัวละหนอง และตั้งชื่อหนองแต่ละแห่งตามชื่อช้าง คือ หนองท่มใหญ่ หนองท่มน้อย หนองบักเหมา และหนองบักสิงห์ (ปัจจุบันยังเหลือให้เห็นอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านยาง ติดถนนไปหนองโดน) สาเหตุที่บ้านใต้แตก มีเรื่องเล่าว่า มีพวกพ่อค้านำหมูมาขายเป็นจำนวนมากมาพักอยู่ใกล้บ้านใต้ คืนหนึ่งมีชาวบ้านพากันจุดไฟเผาป่าใกล้ที่พักของพ่อค้า ทำให้หมูแตกตื่น วิ่งหนีหมด พวกพ่อค้าจึงโกรธชาวบ้านมาก จึงใช้ไสยศาสตร์ปล่อยห่า (ห่าก้อม) ลงใส่บ้านใต้ ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งช้างของพ่อพียขันด้วย ชาวบ้านที่เหลือจึงพากันอพยพกลับมาอยู่ที่บ้านเก่า และทำมาหากิน ประกอบสัมมาชีพมาจนถึงปัจจุบัน
พ่อพียขัน มีน้องชายสองคน ไม่ได้อพยพมาจากจำปาสัก คือ ท้าวเพียข่วงและท้าวเพียข่อ อยู่บ้านสีมานาลา บ้านสีมานาเพียง และบ้านโพนทานาฮาด ปัจจุบันบ้านทั้งสามทราบว่า คงมีเหลืออยู่ในจำปาสัก ประเทศลาว
พ่อพียขันถือว่าเป็นบรรพชน ของชาวบ้านยาง เพราะท่านเป็นผู้นำชาวบ้านอพยพจากเมืองจำปาสักมาตั้งถิ่นถานบริเวณบ้านยางแห่งนี้ และท่านได้นำชาวบ้านสร้างวัดโพธิ์ย่อย ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
เรียบเรียงโดย...พระศรีปริยัติธาดา (ทองสา ฐานิสฺสโร)
รองเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์
เข้าชม : 993 |
|
|
|