หนุนประชาชนไทย หันมากินผักพื้นบ้าน 4 ภาคในปี 2555 จากผลวิจัยพบว่าเพียบไปด้วยคุณค่าต่อสุขภาพเป็นได้ทั้งยาและเป็นอาหาร อาทิ ใบลำปะสี ดอกขี้เหล็ก ยอดมันปู หมาน้อย ผักแพว ยอดหมุย กระเพราแดง ผักเม็ก ใบสะเดา ยอดกระทกรก ดอกผักฮ้วน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ชะลอแก่
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถใช้เป็นยาและเป็นอาหารได้ เช่นสะเดา ผักแพว กระเพรา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อาหารไทยยกกำลัง 2 ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากอาหารชาติอื่น จึงมีนโยบายให้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ทำการศึกษาวิจัยหาคุณค่าของผักพื้นบ้านที่คนไทยทั้ง4 ภาค นิยมกินกันอยู่ทั่วไปทั้งดอก ใบ ยอดอ่อน ฝัก ผล หัวและราก เพื่อเผยแพร่สรรพคุณและส่งเสริมให้มีการนำมาเป็นอาหารบำรุงสุขภาพในปี2555 เพิ่มภูมิต้านทานโรค และจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเผยแพร่ส่งเสริมประชาชนใช้บริโภคและให้โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขนำมาปรุงเป็นอาหารของผู้ป่วย เป็นตัวอย่างประชาชน เมื่อออกจากโรงพยาบาลสามารถนำไปทำกินเองที่บ้านได้
นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นริมห้วย หนองคลองบึง และป่าเขา ในการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 นี้ กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน รวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ประกอบด้วยภาคกลาง 12 ชนิด ภาคเหนือ6 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5ชนิด และภาคใต้ 22 ชนิด โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่ 1.พลังงาน 2.โปรตีน 3.ไขมัน 4.คาร์โบไฮเดรต 5.เบต้าแคโรทีน 6.วิตามินซี 7.ใยอาหาร 8.ธาตุเหล็ก และ 9.แคลเซียม
ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักทุก 100 กรัมเท่ากัน พบว่าผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่าผักเหล่านี้กินแล้วไม่ทำให้อ้วน
ผักที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.หมาน้อยมี 423 มิลลิกรัม 2.ผักแพวมี390 มิลลิกรัม 3.ยอดสะเดามี 384 มิลลิกรัม 4.กระเพราขาวมี 221 มิลลิกรัม 5.ใบขี้เหล็กมี 156 มิลลิกรัม 6.ใบเหลียงมี 151 มิลลิกรัม 7. ยอดมะยมมี 147 มิลลิกรัม 8.ผักแส้วมี 142 มิลลิกรัม 9.ดอกผักฮ้วนมี 113 มิลลิกรัม และ 10.ผักแมะมี 112 มิลลิกรัม
โดยแคลเซียม มีบทบาทหลักคือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยในการแข็งตัวของเลือด และควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด
ผักที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ใบกระเพราแดงมี 15 มิลลิกรัม 2. ผักเม็กมี 12 มิลลิกรัม 3.ใบขี้เหล็กมี 6 มิลลิกรัม 4.ใบสะเดามี 5 มิลลิกรัม และ 5.ผักแพวมี 3 มิลลิกรัม
ส่วนธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำอ็อกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกาย และมีบทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ สมรรถภาพในการทำงาน สร้างภูมิต้านทานโรค และเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย
ผักที่มีใยอาหารสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดมันปู มี16.7 กรัม 2.ยอดหมุย มี 14.2 กรัม 3. ยอดสะเดา มี 12.2 กรัม 4.เนียงรอก มี 11.2 กรัม 5..ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม 6.ผักแพว 9.7กรัม 7.ยอดมะยม 9.4 กรัม 8.ใบเหลียง 8.8 กรัม 9.หมากหมก 7.7 กรัม และ 10.ผักเม่า มี 7.1 กรัม
ซึ่งใยอาหารในผัก ทำให้ร่างกายขับถ่ายอุจจาระได้เร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน นอกจากนี้ใยอาหารบางชนิด ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผักที่มีเบต้าแคโรทีน สูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดลำปะสีมี 15,157 ไมโครกรัม 2.ผักแมะมี 9,102 ไมโครกรัม 3.ยอดกะทกรกมี 8,498 ไมโครกรัม 4.ใบกระเพราแดงมี7,875 ไมโครกรัม 5.ยี่หร่ามี 7,408 ไมโครกรัม 6.หมาน้อยมี 6,577 ไมโครกรัม 7.ผักเจียงดามี 5,905 ไมโครกรัม 8.ยอดมันปูมี 5,646 ไมโครกรัม 9.ยอดหมุยมี 5,390 ไมโครกรัม และ 10.ผักหวานมี 4,823 ไมโครกรัม
ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1. ดอกขี้เหล็กมี 484มิลลิกรัม 2.ดอกผักฮ้วนมี 472 มิลลิกรัม 3.ยอดผักฮ้วนมี 351 มิลลิกรัม4.ฝักมะรุมมี 262 มิลลิกรัม 5.ยอดสะเดามี 194 มิลลิกรัม 6.ผักเจียงดามี 153 มิลลิกรัม7.ดอกสะเดามี 123 มิลลิกรัม 8.ผักแพวมี 115 มิลลิกรัม 9.ผักหวานมี 107 มิลลิกรัม และ 10.ยอดกะทกรกมี 86 มิลลิกรัม
โดยทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย
การนำผักพื้นบ้านประจำถิ่นมาปรุงประกอบอาหาร นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ในการสร้างเสริมสุขภาพและรักษาโรคโดยไม่ต้องพึ่งยาและสารเคมี ในแต่ละภาคของประเทศไทยมีผักพื้นบ้านสามารถเลือกรับประทานได้ตลอดปี และประชาชนควรเพิ่มการกินผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านให้ลูกหลานรู้จักและบริโภคต่อได้
ที่มา
http://www.vcharkarn.com/varticle/43562
เข้าชม : 970
|