สาเหตุต่อมา ตัวเนื้อไตเกิดการอักเสบ เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในไตอักเสบติดเชื้อ หรือแพ้ยาบางชนิด และสาเหตุสุดท้าย ปัญหาจากท่อส่งปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะ เช่น เกิดการตีบตันจากนิ่วหรือต่อมลูกหมากโต ส่งผลให้เกิดความดันไปยังไต
ทั้งนี้ ผศ.พญ.เสาวลักษณ์ ระบุถึงอาการเตือนโรคไต ที่คนทั่วไปสามารถสังเกตได้นั้น มีทั้งการปัสสาวะขัด รู้สึกปวดแสบต้องเบ่งนาน ปัสสาวะน้อย มีสีขุ่นหรือเป็นเลือด ตัวบวม ซีด ความดันโลหิตสูง ปวดหลัง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน กินไม่ได้ อ่อนเพลีย ดังนั้น ผู้ที่พบว่า ตนเองมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่า ไตมีความผิดปกติหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รู้ทันโรคไต รู้ว่าไตมีความบกพร่องหรือไม่ ซึ่ง ผศ.พญ.เสาวลักษณ์ บอกว่า โดยเฉพาะการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ สามารถนำไปตรวจให้รู้ว่ามีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ และการตรวจเลือด เพื่อดูค่า BUN (Blood Urea Nitrogen : บลัด ยูเรีย ไนโตรเจน) เป็นการประเมินประสิทธิภาพไตในการล้างของเสียหากผิดปกติ จะพบว่า ในเลือดมีของเสียปน
ด้านงาน “วันไตโลก ปี 2555” สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตฯ เล่าสถานการณ์โรคไตว่า ปัญหาโรคไตเรื้อรังรวมทั้งโรคไตวายระยะสุดท้ายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากกว่า 30,000 รายในประเทศไทย ทว่าในแต่ละปีมีผู้บริจาคอวัยวะเพียงปีละไม่ถึง 200 รายเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากยังรอรับการบริจาคไตและมีไม่น้อยที่เสียชีวิตไประหว่างการรอรับอวัยวะบริจาค
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ จึงอยากรณรงค์และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคไต เพราะการบริจาคไต ช่วยได้ 2 ชีวิต ซึ่งไตทั้ง 2 ข้างของผู้บริจาคจะถูกนำไปให้กับผู้รับบริจาคข้างละคน ทั้งนี้การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในการช่วยผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย
ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคไต แสดงความจำนงด้วยตัวเอง ณ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ กรณีอยู่ต่างจังหวัดสามารถสมัครได้ที่กาชาดจังหวัดหรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บไซต์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย http://www.organdonate.in.th ทั้งนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยจะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรไตไปยังผู้ป่วยที่รอไต โดยพิจารณาจากลักษณะเนื้อเยื่อที่มีความใกล้เคียงหรือตรงกับผู้ที่รอรับบริจาคอวัยวะมากที่สุด
สำหรับระบบการดำเนินการแจกจ่ายอวัยวะในประเทศไทยเป็นระบบที่โปร่งใส มีการวินิจฉัยการตายก่อนนำอวัยวะออกจากผู้บริจาคตามหลักกฎหมายและวิชาการซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล ดำเนินการและควบคุมโดยสภากาชาดไทย ภายใต้ข้อบังคับแพทย์สภาซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือหวังผลกำไร.
|