วันยุทธหัตถี หรือที่เรียกว่า "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช''" หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 อันตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135
คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2548 กำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันยุทธหัตถี" (แทนวันที่ 25 มกราคม เนื่องจาก ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถี เดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคม นั้นคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถี หรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้
ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม 3 ครั้ง ครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สอง ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร กรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต ครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ยุทธหัตถีครั้งนี้ กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยเป็นพระมารดา ทรงมีพระสุพรรณกัลยาเป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวน หรือง้าว ในพงศาวดารพม่ากล่าวไว้โดยสรุปว่าวันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่าไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆ ที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่ากรุงศรีอยุธยานั้นสำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่ง อย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน
พระชนมายุ 9 พรรษา พระองค์ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี 6 ปี ครั้นเสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่
พระชนมายุ 19 พรรษา ทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดี ตีเมืองเวียงจันทน์
พระชนมายุ 23 พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนจันตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เองอย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป แม้จะจับพระยาจีนจันตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ
พระชนมายุ 24 พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆ ที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ 26 พรรษา ได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบ จนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก 2 กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ 29 พรรษา ได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อ พุทธศักราช 2127 ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา 15 ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง) จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ พระองค์ได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย
พระชนมายุ 35 พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง
พระชนมายุ 37 พรรษา ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา
พระชนมายุ 40 พรรษา เสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก(ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพุทธศักราช 2148 รวมสิริพระชนมายุได้ 50 พรรษา ทรงครองราชย์นาน 15 ปี
ในหนังสือ "400 ปีสมเด็จพระนเรศวร" เรียบเรียงโดย สมชาย พุ่มสอาด, สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และกมล วิชิตสรศาสตร์ เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ถึง 18 อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่าง ๆ เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี
|