บทความทั่วไป ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวด
อังคาร ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2559
|
|
พื้นที่ในอำเภอบ้านกรวดในจังหวัดบุรีรัมย์และอำเภอใกล้เคียงจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เป็นดินแดนของอีสานตอนใต้ติดเขตกัมพูชา มีภูเขาดงเล็กเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ในอดีตท้องถิ่นอำเภอบ้านกรวดเป็นชุมชนเขมรดั้งเดิม เรียกว่าเขมรป่าดง บ้านกรวดมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่อยู่ติดแนวชายแดนไม่มีอะไรนอกจากป่าไม้ดงดิบที่ทึบหนา ประมาณ ปี พ.ศ.2503 ทางการได้ไปจัดนิคมให้ประชาชน ทำให้มีคนจากทุกสารทิศไหล่บ่าเข้าไปจับจองที่ทำมาหากิน มีการขุดโค่นต้นไม้ถางป่า หลังจากนั้นก็มีการขุดพบเครื่องเคลือบคือ จำพวกไห คนโท ฯลฯ
ในอดีตบ้านกรวดเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรขอมโบราณ ในท้องที่อำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย อำเภอประโคนชัย และบางส่วนของอำเภอกาบเชิงรวมกัน พบเตาเผาเครื่องเคลือบประมาณ 300 กว่าเตา แต่ในกัมพูชาเองกลับไม่พบร่องรอยของการเผาหรือเตาเผา ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 โดยเตาเผาเหล่านี้ ได้ผลิตเครื่องถ้วยเขมร เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ ในกัมพูชา และในภูมิภาคต่างๆ โดยมีการทำอุตสาหกรรมขนาด ใหญ่โต และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
คุณพิมาน บาลโสง เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวดเล่าว่า หลังจากที่มีการขุดค้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2522 คนทั่วไปเริ่มรู้จักบ้านกรวดมากขึ้น มีการเข้ามาขุดค้นและขายโบราณวัตถุอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บรรทุกกันจริง ๆ เป็นคันรถ 10 ล้อ ขนออกไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร หลังจากนั้นมาของดี ๆ คนเขาก็เอาไปจำหน่ายกัน ส่วนของที่เหลือ ๆ ไม่มีคนซื้อแล้ว คุณพิมานและภรรยาได้พยายามช่วยกันเก็บอนุรักษ์ไว้ คุณพิมานบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นผู้เริ่มต้นเก็บรวบรวมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2526 ปัจจุบันมีทั้งสิ้นประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ชิ้น เก็บไว้ที่โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาการ
การที่ได้เก็บรวบรวมและรักษาเอาไว้นี้ก่อให้เกิดผลตามมาหลายอย่างคือ สยามสมาคมได้นำชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชม ทำให้บ้านกรวดเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะที่บ้านกรวดเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรขอม ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้นำคณะคณาจารย์แล้วก็คณะนักเรียนนายร้อย จปร. เข้าเยี่ยมชม เป็นความภูมิใจของชาวบ้านที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อครั้งแรกเคยขุดได้ขาย อันไหนขายไม่ได้ เหยียบทิ้งทำลายทิ้งไป เราก็ไปเก็บมาไว้ นาน ๆ เข้า ชาวบ้านเริ่มรู้เห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้ ขณะนี้ทุกคนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน มีการจัดงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของอำเภอบ้านกรวดนั่นคือ “งานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด” จัดมา 11 - 12 ปีแล้ว
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรท้องถิ่นสอนทำเครื่องปั้นดินเผาสำหรับนักเรียน โดยอาศัยรูปแบบเดิม ๆ มาปั้นแล้วเผา ขณะนี้ได้ทำเป็นของชำร่วย ของที่ระลึก ในอนาคตหวังว่าจะส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
เข้าชม : 458 |
|
บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด
ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวด 1 / พ.ย. / 2559
เตาเผานายเจียน 17 / พ.ค. / 2559
ช่องโอบก 10 / พ.ย. / 2558
แหล่งลานหินตัด 10 / พ.ย. / 2558
เขื่อนเมฆาเย็นสบาย. 20 / มิ.ย. / 2558
|