[x] ปิดหน้าต่างนี้
 


 

  

บทความทั่วไป
หลักการเกษตรธรรมชาติ

อังคาร ที่ 1 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2557

 
หลักเกษตรธรรมชาติ
ความหมายของเกษตรธรรมชาติ
 เกษตรธรรมชาติ หมายถึง การทำการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ตลอดจนไม่ใช้สิ่งขับถ่ายจากมนุษย์ แต่เน้นการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีพลังในการ เพาะปลูกเหมือนกับดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยมีการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นระบบการเกษตรที่มีความยั่งยืน ถาวร เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง
ดังนั้นถ้าจะให้ความหมายของคำว่า ผักเกษตรธรรมชาติ จึงเป็นผักที่ผลิตโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี รวมทั้งไม่ใช้สิ่งขับถ่ายจากมนุษย์ในกระบวนการผลิต จึงปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคมากที่สุด
แต่สำหรับ ผักปลอดสารพิษ เป็นผักที่มีสารพิษหรือสารเคมีทางการเกษตรตกค้างอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นผักปลอดสารพิษอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือผักที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต กลุ่มที่สองเป็นผักที่ผลิตโดยวิธีทั่วไปมีการควบคุมการใช้สารเคมีซึ่งอาจมีการใช้สารเคมีในระยะแรก ๆ และงดการใช้ เมื่อใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในผลผลิต หรือถ้ามีสารพิษตกค้างอยู่ก็ต้องไม่เกินระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ความสำคัญของเกษตรธรรมชาติ
เกษตรธรรมชาตินับว่าเป็นการทำการเกษตรที่มีความสำคัญมาก ดังนี้
1. ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม เนื่องจากไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด จึงไม่มีสารพิษตกค้างในสภาพแวดล้อม
2. ช่วยปรับปรุงและพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก จึงช่วย คุ้มครองพื้นที่ในการทำการเกษตร
3. ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความสมดุลของสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
4. ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่บริสุทธิ์ ทั้งปริมาณและมีคุณภาพดี
5. เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีการใช้ทรัพยากรภายในแปลงเกษตรมาหมุนเวียน ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ลดการใช้ปัจจัยภายนอกจึงเป็นการลดต้นทุนการผลิต
6. เป็นการเกษตรที่คำนึงถึงผู้บริโภคและลูกหลานในอนาคต
7. เป็นการลดความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการทำการเกษตรที่ให้ผลผลิตแบบผสมผสานและมีความยั่งยืน
8. ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรปลอดภัยจากพิษภัยของสารเคมี สามารถประกอบอาชีพที่ปลอดภัยมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
หลักเกษตรธรรมชาติ
ถ้าเราศึกษาสภาพป่าเขาเราจะเห็นว่าในป่ามีต้นไม้นานาชนิดขึ้นปะปนกันอยู่เต็มไปหมด ผิวดินถูกปรกคลุมไปด้วยใบไม้ที่ล่นทับถมกัน สัตว์ป่าถ่ายมูลไว้ที่ผิวหน้าดินคลุกเคล้ากับใบไม้และซากพืช มูลสัตว์รวมทั้งซากสัตว์ โดยมีสัตว์เล็ก ๆ เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ จิ้งหรีด ฯลฯ กัดแทะเป็นชิ้นเล็ก ๆ และมีจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินช่วยย่อยสลายจนกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่านั่นเอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเอาปุ๋ยเคมีไปใส่ในป่า ซึ่งเกษตรกรสามารถเลียนแบบป่าได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ย ชีวภาพ เช่น ไรโซเบียม ไมโครไรซ่า เป็นต้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ใบไม้และเศษพืชที่ปกคลุมผิวดินก็เป็นการคลุมผิวหน้าดินไว้ ป้องกันการสูญเสียความชื้นภายในดินทำให้หน้าดินอ่อนนุ่มสะดวกต่อการชอนไชของรากพืช การเพาะปลูกพืชก็ควรมีการคลุมหน้าดินด้วย ถ้าศึกษาต่อไปจะพบว่า แม้ไม่มีใครนำเอายาฆ่าแมลงไปฉีดพ่นให้ต้นไม้ในป่า แต่ต้นไม้ในป่าก็เจริญเติบโตแข็งแรงต้านทานโรคและแมลงได้ตามธรรมชาติถึงแม้จะมีโรคและแมลงรบกวนบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นเสียหายและยังสามารถให้ผลผลิตได้ตามปกติ นั่นก็คือ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ นอกจากนี้พืชในป่าก็ไม่ใช่พืชชนิดเดียวกันทั้งหมด แต่เป็นพืชหลากหลายชนิดทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลงและแมลงบางชนิดเป็น ศัตรูพืช บางชนิดก็เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช จึงมีการควบคุมซึ่งกันและกันดังนั้น จึงเกิดความสมดุลตามธรรมชาติ โอกาสที่จะเกิดแมลงศัตรูพืชระบาดจนเกิดความเสียหายจึงมีน้อย ดังนั้นเกษตรกรจึงสามารถจำลองสภาพป่าไว้ในไร่-นาโดยการปลูกพืชให้หลากหลายชนิด
หลักเกษตรธรรมชาติ ก็เป็นหลักการที่มาจากป่าที่สมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งจะประกอบด้วย การปฏิบัติการทางการเกษตรที่คำนึงถึง ดิน พืชและแมลง ไปพร้อม ๆ กัน คือ
1. ดิน : ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์
2. พืช : ปลูกพืชหลายชนิด
3. แมลง : อนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์
หลักเกษตรธรรมชาติ ข้อที่ 1 ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถทำได้โดย
1) ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด ส่วนปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ ไรโซเบียม ไมโคไรซ่า ปุ๋ยเหล่านี้จะให้ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุแก่พืชอย่างครบถ้วนจึงใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้
2) การคลุมดิน ทำได้โดยใช้เศษพืชต่าง ๆ จากไร่นา เช่น ฟาง หญ้าแห้ง ต้นถั่ว ใบไม้ ขุยมะพร้าว เศษเหลือทิ้งจากไร่นา หรือ กระดาษหนังสือพิมพ์ พลาสติกคลุมดิน หรือการปลูกพืชคลุมดิน การคลุมดินมีประโยชน์หลายประการ คือ ช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และรักษาความชุ่มชื้นของดิน เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยทำให้หน้าดินอ่อนนุ่ม สะดวกต่อการชอนไชของรากพืช ช่วยรักษาอุณภูมิของดินมิให้เปลี่ยนแปงอย่ารวดเร็ว ช่วยป้องกันวัชพืช ช่วยกระตุ้นจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้นทั้งชนิดและปริมาณ นอกจากนี้วัสดุคลุมดินจะค่อย ๆ สลายและปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่ดิน เช่น การใช้เศษพืชคลุมดินซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ของการคลุมดินดังกล่าวมานี้จะช่วย ส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตดี อนึ่งในการคลุมถ้าสามารถคลุมดินได้หนาพอจะช่วย ป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้ดินที่เตรียมไว้ดีแล้วยังคงมีความอ่อนนุ่มและร่วนซุยตลอดฤดูปลูกอีกด้วย
3) การปลูกพืชหมุนเวียน เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารแตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ อีกทั้งระบบรากยังมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการแผ่กว้างและหยั่งลึก ถ้ามีการจัดระบบการปลูกพืชอย่างเหมาะสมแล้วจะทำให้การใช้ธาตุอาหารมีทั้งที่ถูกใช้และสะสมสลับกันไปทำให้ดินไม่ขาดธาตุอาหารธาตุใดธาตุหนึ่ง และเทคนิคที่สำคัญควรปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชปุ๋ยสดหมุนเวียนปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยบำรุงดิน “หัวใจของเกษตรธรรมชาติอยู่ที่ดินดี พืชที่ปลูกอยู่บนดินที่ดีจะเติบโตแข็งแรง สามารถต้านทานการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ และส่งผลให้ได้ผลผลิตดี”
หลักเกษตรธรรมชาติ ข้อที่ 2 ปลูกพืชหลายชนิด
การปลูกพืชหลายชนิดเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในไร่-นา ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ เนื่องจากการปลูกพืชหลายชนิดจะทำให้มีความหลายหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลงจึงมีแมลงหลายชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ในจำนวนแมลงเหล่านี้จะมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติที่ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง การปลูกพืชหลายชนิดสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น
1) การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือตระกูลเดียวกันติดต่อกันบนพื้นที่เดียวกัน การปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลง และจะมีประโยชน์ด้านการปรับปรุงดิน โดยมีหลักในการเลือกพืชชนิดต่าง ๆ มาไว้ในระบบปลูกพืชหมุนเวียน ดังนี้
1.1 ไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือตระกูลเดียวกันติดต่อกันในพื้นที่เดียวกัน
1.2 ควรปลูกพืชกินใบ กินดอก กินผล และกินหัว สลับกันเนื่องจากพืชเหล่านี้จะมีความต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน
1.3 ควรปลูกพืชที่มีระบบรากสั้นและรากยาวสลับกัน เพื่อให้รากแผ่กระจายไปหาอาหารในดินที่ต่างระดับกันสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
1.4 ควรปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลิสง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ปอเทือง ฯลฯ พืชตระกูลถั่วจะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนและอินทรีย์วัตถุ เป็นการช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ในการปลูกพืชตระกูลถั่วถ้าเป็นไปได้ก็ควรใช้ไรโซเบียมคลุกเมล็ดก่อนปลูกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนมากยิ่งขึ้น
1.5 ควรปลูกพืชตระกูลหญ้า เช่น ข้าว ข้าวโพด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พืชตระกูลหญ้าช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุ และศัตรูพืชของพืชตระกูลหญ้าก็แตกต่างจากพืชตระกูลต่าง ๆ เป็นการตัดวงจรอาหารของแมลงศัตรูพืช จะช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้
1.6 ควรปลูกพืชที่มีเศษเหลือทิ้ง ส่วนของใบและลำต้นหลังการเก็บเกี่ยวมากสลับกับเศษเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยวน้อย
1.7 การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชควรพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น เลือกปลูก ถั่วลิสงและดาวเรือง เพื่อป้องกันไส้เดือนฝอยรากปม เป็นต้น
2) การปลูกพืชแซม การเลือกพืชมาปลูกร่วมกัน หรือปลูกพืชแซมกันนั้นต้องเกื้อกูลกัน เช่น ต้องช่วยป้องกันศัตรูพืช ช่วยเพิ่มธาตุอาหารซึ่งกันและกัน ช่วยคลุมดิน ช่วยเพิ่มรายได้ก่อนการเก็บเกี่ยวพืชหลัก เป็นต้น ตัวอย่างการปลูกพืชแซมมีดังนี้
2.1 การปลูกดอกไม้สีสด ๆ เช่น บานชื่น บานไม่รู้โรย ดาวเรือง คอสมอส ดาวกระจาย ทานตะวัน รอบ ๆ แปลงผัก สวนไม้ผล หรือปลูกแซมไปกับผักและสวนไม้ผลอย่างประปรายก็ได้ สีของดอกไม้จะช่วยดึงดูดให้แมลงศัตรูธรรมชาติหรือแมลงตัวห้ำตัวเบียนเข้ามาอยู่ในแปลงเกษตร และน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก็จะเป็นอาหารของแมลงเหล่านั้นด้วย แมลงศัตรูธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร
2.2 การปลูกตะไคร้หอมรอบ ๆ แปลง ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชเมื่อตัดใบตะไคร้หอมจะมีกลิ่นไล่แมลง ใบตะไคร้หอมนำมาใช้คลุมดินได้ดีและยังช่วยไล่แมลง หรืออาจตัดใบตะไคร้หอม โรยไว้ที่แปลงเพื่อป้องกันแมลงก็ได้ นอกจากนี้ใบตะไคร้หอมยังนำมาทำน้ำยาสมุนไพรฉีดพ่น ไล่แมลงได้อีกด้วย
2.3 การปลูกพืชบางชนิดซึ่งมีกลิ่นหรือสารไล่แมลงศัตรูพืช เช่น ผักกาดหอม กระเทียม ดาวเรือง ผักชี กะเพรา แมงลัก โหรพา มะเขือเทศ ฯลฯ แซมลงในแปลงปลูกพืชหลักเพื่อลดอัตราความหนาแน่นของแมลงศัตรูพืช เช่น ปลูกผักชีร่วมกับคะน้า ปลูกหอมแบ่งร่วมกับกะหล่ำปลี เป็นต้น
2.4 การปลูกดาวเรืองร่วมกับพืชอื่น ๆ เช่น มันฝรั่ง มันเทศ กล้วย สับปะรด จะช่วยลดความเสียหายจากการทำลายของไส้เดือนฝอยรากปมได้ หรืออาจปลูกดาวเรืองหมุนเวียนเพื่อลดไส้เดือนฝอยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
2.5 การปลูกหอมร่วมกับพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงโม แคนตาลูป เป็นต้น หรือการปลูกกุ๋ยไช่ร่วมกันพืชตระกูลพริก-มะเขือ จะช่วยป้องกันโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อฟิวซาเรียมได้ เนื่องจากบริเวณรอบ ๆ รากหอมหรือกุ๋ยไช่มีแบคทีเรียต่อต้านเชื้อราสาเหตุของโรคได้
2.6 การปลูกถั่วลิสงแซมระหว่างแถวของข้าวโพด จะช่วยทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติมาอาศัยอยู่ในแปลง เช่น มีแมลงมุมตัวห้ำช่วยควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เป็นต้น
หลักเกษตรธรรมชาติ ข้อที่ 3 อนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถทำได้โดย
1. การไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากสารเคมีทำลายทั้งแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ด้วย การไม่ใช้สารเคมีทำให้มีศัตรูธรรมชาติตัวห้ำตัวเบียนมากขึ้น ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชได้
2. ปลูกดอกไม้สีสด ๆ เช่น บานชื่น ทานตะวัน บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ดาวกระจาย เป็นต้น โดยปลูกไว้รอบแปลง หรือปลูกแซมในแปลงเพาะปลูกวิธีนี้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้แมลงศัตรูธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากสีของดอกไม้จะช่วยดึงดูดแมลงนานาชนิด และในจำนวนนั้นก็เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย จึงเป็นการเพิ่มจำนวนแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงเพาะปลูกซึ่งจะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชได้
3. ใช้สารสกัดจากสมุนไพรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช หรือใช้วิธีอื่นอย่างผสมผสานโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชแซม การปลูกพืชมีกลิ่นไล่แมลงศัตรูพืช เป็นต้น
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นหลักในการปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เป็นหลักเกษตรธรรมชาติ 3 ข้อใหญ่ ๆ อันได้แก่ ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชหลายชนิด และการอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์

เข้าชม : 726

บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      หลักการเกษตรธรรมชาติ 1 / ก.ค. / 2557
      เลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีแวป...ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย 3 / ธ.ค. / 2551
      ชื่อโครงการ 10 / ก.ค. / 2551
      Concept คุณจะสร้างเวบเกี่ยวกับอะไร 4 / ก.พ. / 2551
      สธ.พบคนงานเจียรหินแถวเขายายเที่ยงดับด้วยโรคปอดหินคนแรกของประเทศ 22 / ม.ค. / 2551




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้ง ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 

 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอหนองหงส์
เลขที่ 100 หมู่ 6 ถนนศรีสง่า - โนนแดง  ตำบลสระแก้ว อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ 
โทรศัพท์ 0-4466-9124 มือถือ 087-8759944
FACEBOOK : สกร.อำเภอหนองหงส์ การศึกษาตลอดชีวิต

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.03