[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
   กลับหน้าหลัก


บทความสุขภาพ
รู้ทัน...ระวัง โรคไข้เลือดออก

อังคาร ที่ 24 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2558

 
       ไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งมักพบระบาดในเขตร้อน แต่เดิมในประเทศไทยจะพบระบาดมากในฤดูฝน แต่อาจเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปทำให้โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทั้งปี ไข้เลือดออกมียุงลายสายพันธุ์ Aedes aegypti เป็นพาหะของโรค โดยยุงลายจะกัดผู้ที่เป็นโรคก่อน จากนั้นจะไปกัดผู้อื่นที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นเมื่อพบผู้ที่เป็นไข้เลือดออกคนหนึ่งแล้ว จึงมักพบผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน หรือเพื่อนร่วมโรงเรียน ร่วมชั้นเรียนเป็นโรคเหมือนกัน

       แต่เดิมไข้เลือดออกเป็นโรคที่มักพบในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน แต่ปัจจุบันพบในเด็กวัยรุ่น และในผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างไรก็ตามคนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ และสามารถเป็นซ้ำได้ เพราะไข้เลือดออกมีหลายสายพันธุ์ และภูมิคุ้มกันที่เกิดหลังการติดเชื้อครั้งนั้นๆจะไม่ข้ามไปป้องกันสายพันธุ์อื่น 

       ภายหลังโดยยุงลายกัดและได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกายแล้ว 3 – 14 วัน (เฉลี่ย 4 – 7 วัน) ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง หน้าแดง ตาแดง ทานอาหารได้น้อย บางรายมีคลื่นไส้อาเจียน ไม่ค่อยมีอาการไอ/น้ำมูก ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อหวัดหรือเป็นภูมิแพ้ร่วมด้วย อาการไข้มักจะสูงลอย 2 – 7 วัน ในระยะนี้อาจทำให้เด็กมีอาการชักจากไข้สูงได้ หลังจากมีไข้สูง 2 – 7 วัน ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะไข้ลด หรือระยะช็อคซึ่งกินเวลาประมาณ 24 – 48 ชม. เป็นระยะที่มีการรั่วของน้ำเลือด (พลาสมา) จากหลอดเลือดออกไปสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น ช่องท้อง ช่องปอด ทำให้เสมือนหนึ่งร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีไข้แล้ว และส่วนมากจะแค่มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย ไม่อันตราย แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในรายที่ทานอาหารไม่ได้ ขาดน้ำ จะมีอาการช็อค ซึ่งไม่ใช่อาการหมดสติตามที่คนส่วนมากเข้าใจกัน ผู้ป่วยยังมีสติดีตลอด รู้เรื่องดี แต่มีอาการขาดน้ำชัดเจน กระสับกระส่าย ปวดท้อง (เนื่องจากน้ำเลือดรั่วเข้าช่องท้อง) หรือบางรายหายใจหอบ (น้ำเลือดรั่วเข้าช่องปอด) ชีพจรเบาเร็ว ปลายมือเท้าซีดเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสเดงกี่ยังทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ ทำให้เกิดอาการเลือดออกได้ ที่พบบ่อยคือ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงๆตามผิวหนัง และเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้ปวดท้อง อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เมื่อพ้นระยะช็อค (24 – 48 ชม.หลังไข้ลด) ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว น้ำเลือดที่เคยรั่วเข้าสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียงเริ่มกลับเข้าสู่หลอดเลือดดังเดิม ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ เริ่มอยากอาหารมากขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้นและใสขึ้น และมักพบผื่นเป็นจุดแดงๆตามแขนขาและลำตัวซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วย ในระยะนี้เกล็ดเลือดที่ต่ำจะค่อยๆเพิ่มกลับขึ้นจนเป็นปกติ ระยะฟื้นตัวจะใช้เวลานาน 2 – 5 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะกลับไปเป็นปกติดี

      โรคไข้เลือดออกยังไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษายังเป็นการรักษาตามอาการ โดยในระยะไข้จะเป็นการให้ยาลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น และเป็นการเช็ดตัว ให้ดื่มน้ำเกลือแร่มากๆ ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่ควรใช้ยาลดไข้อื่นที่ไม่ใช่พาราเซตามอล เช่น ไอบูโพรเฟน หรือ แอสไพริน เพราะยาจะทำให้เลือดออกง่ายและทำให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้น ในระยะช็อคก็เป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดกรดในรายที่ปวดท้อง ให้ออกซิเจนในรายที่หอบ กระสับกระส่าย และคอยเผ้าระวังสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ส่วนในระยะฟื้นตัวก็จะเป็นการเฝ้าระวังอาการเลือดออกง่าย เนื่องจากยังมีระดับเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำอยู่

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เป็นปกติใน 7 – 14 วัน โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบคือภาวะสมองอักเสบ ตับอักเสบ น้ำท่วมปอด เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น โดยบางรายอาจเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม

      ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 12 เดือน ผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด โรคเลือด เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD และเด็กพิการที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เป็นต้น

      ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูง (โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยและเด็กดูสบายดี) 2 วันแล้วยังไม่ลด แต่ในรายที่มีไข้ร่วมกับซึม ทานอาหารได้น้อย กระสับกระส่าย เลือดออก ปวดท้อง และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรไปพบแพทย์ทันที

       ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันทำได้ 2 ทางคือ การกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการพ่นยาหรือสารเคมี การเฝ้าระวังไม่ให้มีแหล่งน้ำขังในบ้านและโรงเรียน โดยเฉพาะ แจกันดอกไม้ อ่างน้ำ หรือภาชนะต่างๆที่มีน้ำขัง เป็นต้น และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยอาจใช้เป็นยาทากันยุง (ในเด็กอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป) ใส่เสื้อผ้าแขนขายาว ติดมุ้งลวด หรือให้เด็กนอนในมุ้ง เป็นต้น



ที่มา...รพ.วิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล

เข้าชม : 218

บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      รู้ทัน...ระวัง โรคไข้เลือดออก 24 / พ.ย. / 2558


กศน.ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์
โทรศัพท์ 044-650164 โทรสาร 044-650164 
ติดต่อ ครูแปร 087-6058478 , ครูอุ้ม 083-3751319 ,ครูตุ้ม 091-4708846 

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin