ประวัติความเป็นมา
แต่เดิมในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวก อยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทาง เผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อ ทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะศากยบุตรไม่ยอมหยุดสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่พวกพ่อค้าและนักบวชในศาสนาอื่นๆ ต่างพากันหยุดสัญจรในช่วงฤดูฝนนี้ การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าชาวบ้าน ได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงได้วางระเบียบให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่ประจำที่วัด ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแห่งฤดูฝน ภิกษุสงฆ์ที่อธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว จะไปค้างแรมที่อื่นนอกเหนือจากอาวาส หรือที่อยู่ของตนไม่ได้แม้แต่คืนเดียว หากไปแล้วไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือก่อนรุ่งสว่าง ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา
แต่หากมีกรณีจำเป็น 4 ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถกระทำ สัตตาหกรณียะ คือ ไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ
1. ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. ไประงับไม่ให้พระภิกษุสึก
3. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น
4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
ในการอธิษฐานเข้าพรรษา ณ วัดหรือที่ใดที่หนึ่ง หากมีเหตุจำเป็น 5 ประการต่อไปนี้ ภิกษุไม่ต้องอาบัติ แม้จะไปอยู่ที่อื่น ได้แก่
1. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม
2. ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป อนุญาตให้ไปกับเขาได้ หรือชาวบ้านแตกเป็น 2 ฝ่าย ให้ไปกับฝ่ายที่มีศรัทธาเลื่อมใส
3. ขาดแคลนอาหาร หรือยารักษาโรค
4. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้หนีไปเสียให้พ้นได้
5. ภิกษุสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามทำให้ภิกษุสงฆ์ในวัดแตกกัน ให้ไปเพื่อหาทางระงับได้
ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ
1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน
3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนประชาชน
เมื่อถึงวันออกพรรษา
4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา
เข้าชม : 603
|