การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ
สาระสำคัญ
การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพของบุคคล และกลุ่มบุคคล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) การเรียนรู้อาชีพแบบองค์รวมที่ประชาชน ครู กศน. และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน
2) การออกแบบการเรียนรู้งานอาชีพตามลักษณะของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ ในรูปแบบการฝึกทักษะอาชีพ การเข้าสู่อาชีพ การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาอาชีพด้วยเทคโนโลยี
3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงที่บูรณาการกับวิถีชีวิต โดยใช้วงจรกระบวนการคิด ทำ จำ แก้ปัญหาและพัฒนา
4) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพที่พัฒนาศักยภาพของบุคคลและชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพ สร้างเครือข่ายอาชีพ มีระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ การทำอาชีพ ภายใต้วัฒนธรรมของชุมชน มีกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันของชุมชน เป็นชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและพัฒนาอาชีพ
แนวทางการดำเนินงาน
1) การพัฒนาทักษะอาชีพ : สำรวจความต้องการของผู้เรียนและฝึกทักษะอาชีพในลักษณะหลักสูตรระยะสั้น ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้มีความรู้ละทักษะพื้นฐานในอาชีพ
2) การฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่อาชีพ : จัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการฝึกทักษะอาชีพหรือจัดเป็นกิจกรรมเฉพาะ เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้สามารถคิด วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อเข้าสู่อาชีพ โดยจัดให้มีกระบวนการแนะแนวอาชีพที่มีประสิทธิภาพ
3) การพัฒนาอาชีพ : พัฒนาอาชีพของกลุ่มเป้าหมายในลักษณะกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยจัดให้มีการรวมกลุ่มของผู้มีอาชีพประเภทเดียวกัน เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสวงหาความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาอาชีพของกลุ่มโดยกระบวนการกลุ่ม (Group Process)
4) การพัฒนาอาชีพด้วยเทคโนโลยี : พัฒนาอาชีพของกลุ่มเป้าหมายด้วยเทคโนโลยี โดยเน้นการจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายสถานประกอบการและผู้ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากิจการและศักยภาพของตนเอง เช่น การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพาณิชย์(E-Commerce) การจัดสร้างระบบฐานข้อมูลหรือการนำเสนองานด้วยคอมพิวเตอร์
|